ประวัติความเป็นมา


ประวัติความเป็นมาของดนตรีตะวันตก

เนื่องจาก ในอดีตได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายยุคหลายสมัย เช่นเดียวกับดนตรีที่มีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา โดยในระยะเริ่มแรกนั้นแนวดนตรีไม่ได้มีความสลับซับซ้อนแต่อย่างใด ลักษณะดนตรีมีเพียงแนวทำนองอย่างเดียวไม่มีเสียงประสาน จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 จึงมีการเริ่มใช้เสียงประสานโดยเป็นการประสานเสียงอย่างง่าย จนกระทั่งนำไปสู่การพัฒนาดนตรีในยุคต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นสามารถแบ่งการพัฒนาดนตรีตะวันตกออกเป็นยุคๆได้ดังนี้

ยุคกลาง (The Middle Age ค.ศ. 450-1450)
        ยุคนี้คือ ช่วงเวลาระหว่างศตวรรษที่ 5-14 ในยุคที่มีความเจริญสูงสุดเกิดขึ้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 เนื่องจากเป็นช่วงที่ศาสนามีบทบาทและอำนาจสูงมากสามารถรวมผู้คนให้มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันได้ หลังจากนั้นศาสนาเริ่มเสื่อมลง แล้วตามมาด้วยสงครามที่เรียกกันว่าสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ในยุคนี้เริ่มปรากฎหลังฐานเกี่ยวกับเพลงคฤหัสถ์ (secular music) ซึ่งเป็นเพลงขับร้องเพื่อความรื่นเริงได้รับความนิยมและแพร่หลายมากในประเทศต่างทางยุโรปตะวันตก นอกเหนือจากเพลงโบสถ์ (church music) ซึ่งเพลงทั้ง 2 ประเภทนี้มีลักษณะต่างกัน คือ เพลงโบสถ์ซึ่งปรากฎหลักฐานขึ้นก่อนมีลักษณะเป็นเพลงร้องอย่างเดียวไม่มีดนตรีประกอบ ไม่มีอัตราจังหวะ คำร้องเป็นภาษละติน ทำนองบันทึกเป็นตัวโน๊ตเรียกว่า neumatic notation
ช่วงเวลาประมาณ 300 ปีระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 ดนตรีมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากตอนต้นยุคกลาง คือ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมานั้น เพลงแชนต์ ซึ่งรู้จักกันในนามของเกรกอเรียนแชนต์ (Gregorian chant) ได้รับการพัฒนาเป็นรูปของการขับร้องแบบสอดประสาน หรือโพลีโฟนี (polyphony) จนคริสต์ศตวรรษที่ 13 ลักษณะของเพลงที่สำคัญในสมัยนี้คือ การร้องในลักษณะร้องประสานเสียง 2 แนว เรียกว่า ออร์กานุม (organum) ซึ่งในระยะแรกก้ยังไม่มีอัตราจังหวะในเวลาต่อมาจึงเริ่มมีการพัฒนาในลักษณะของอัตราจังหวะตามลำดับ
          เครื่องดนตรีที่ใช้ในยุคกลาง คือ เครื่องสายที่บรรเลงด้วยคันชัก ได้แก่ ซอวิแยม (vielle) ขนาดต่างๆ,ซอรีเบ๊ก (rebec) และซอทรอมบามารินา (tromba marina) ซึ่งเป็นซอขนาดใหญ่ ประเภทเครืาองเป่า ได้แก่ ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ (recorder), ปี่ชอว์ม (shawm), แตรฮอร์น และทรัมเป็ตโบราณ
ยุคเรเนสซองส์ (The Renaissance Period ค.ศ. 1450-1600)
          คำว่า "Renaissance" แปลว่าเกิดใหม่ ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ปัญญาชนในยุโรปได้หันความสนใจจากกิจการฝ่ายศาสนาจากยุคกลางมาสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ลักษณะของดนตรีในยุคนี้ได้มีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบมากขึ้นลักษณะการสอดประสานทำนองยังคงเป็นลักษณะเด่น เพลงร้องยังคงเป็นที่นิยม ส่วนเพลงบรรเลงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 และนอกจากนี้ยังนิยมการขับร้องประสานเสียงที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม
     กลุ่มเสียงร้องของผู้หญิง 2 กลุ่ม
-กลุ่มเสียงโซปราโน (ผู้หญิงเสียงสูง)
-กลุ่มเสียงอัลโต (ผ้หญิงเสียงทุ้มต่ำ)
     กลุ่มเสียงร้องของผู้ชาย 2 กลุ่ม
-กลุ่มเสียงเทเนอร์ (ผู้ชายเสียงสูง)
-กลุ่มเสียงเบส (ผู้ชายเสียงต่ำ)
ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญบุคคลสำคัญ เครื่องดนตรีที่นิยมใช้ในยุคนี้ คือ เครื่องสายที่บรรเลงด้วยคันชัก ได้แก่ ซอวิโอล (viols), ซอรีเบ็กลูตเวอร์จินัล, คลาวิคอดร์ด, ขลุ่ยรีคอร์เดอร์, ปี่ชอว์ม,แตรทรัมเป็ต และแตรทรอมโบนโบราณ

ยุคบาโรก (The Baroque Period ค.ศ. 1600-1750)
          คำว่า "Baroque" มาจากคำว่า "Barroco" ในภาษาโปตุเกส หมายถึง ไข่มุกที่มีสัณฐานเบี้ยว และเป็นคำที่ใช้เรียกสไตล์ของงานสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เต็มไปด้วยการตกแต่งประดับประดาและให้ความรู้สึกอ่อนไหว
          เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่มีระเวลานาน รูปแบบของเพลงจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเวลา รูปแบบของเพลงที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะเด่นที่สุดของดนตรีบาโรก คีตกวีเริ่มเปลี่ยนการแต่งเพลงสไตล์โพลีโฟนี (polyphony) ซึ่งแนวทำนองและแนวประสานของเพลงต่างก็มีความสำคัญเท่าๆกัน และหันมาสนใจสไตล์โมโนดี (Monody) ซึ่งในบทเพลงจะมีแนวขับร้องเพียงแนวเดียวดำเนินทำนองและมีแนวสำคัญที่เรียกในภาษาอิตาลีว่า "เบสโซคอนตินิวโอ (Basso continuo)" ทำหน้าที่เป็นเสียงคลอเคลื่อนที่ตลอดเวลาทำให้เกิดคอร์ดขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้เลิกสไตล์โพลีโฟนีเสียทีเดียว ดังที่ปรากฎให้เห็นในดนตรีคีย์บอร์ดในแบบของฟิกว์ (Fugue) ออร์แกนคอราล (Organ Chorale) ตลอดจนทอกคาทา (Toccata) ซึ่งแต่งโดยใช้เทคนิคเคาร์เตอร์พอยต์ (Counterpoint) ซึ่งหมายถึง การใช้แนวทำนองร้องเล่น ควบคู่ไปกับแนวทำนองหลัก
          ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของดนตรีในยุคบาโรก คือ การทำให้เกิดความตัดกัน (contrasting) เช่น ความแตกต่างระหว่างความเร็ว-ความช้า, ความดัง-ความเบา, การบรรเลวเดี่ยว-การบรรเลงกลุ่ม อีกทั้งนักประพันธ์ยังเปิดโอกาสให้นักดนตรีที่แสดงเดี่ยวได้แสดงความสามารถในการด้นสด(improvisation) ในบางช่วงของบทเพลงอีกด้วย และในยุคนี้การบันทึกตัวโน๊ตได้รับการพัฒนาจนเป็นลักษณะการบันทึกตัวโน๊ตที่ใช้ในปัจจุบันนี้ คือ การใช้บรรทัดห้าเส้น รวมถึงการใช้กุญแจซอล กุญแจฟา กุญแจโดอัลโต และกุญแจโดเทเนอร์ มีการใช้สัญลักษณ์ตัวโน๊ตและตัวหยุด แทนความยาวของจังหวะและตำแหน่งของตัวโน๊ตในบรรทัดห้าเส้นแทนระดับเสียง และยังมีตัวเลขบอกถึงอัตราจังหวะ มีเส้นกั้นห้องเพลงและสัญลักษณ์อื่นๆ อย่างสมบูรณ์

ยุคคลาสสิค (The Classic Period ค.ศ. 1750-1820)
          ยุคนี้ตรงกับสมัยของประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตันซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติขึ้นในอเมริกายุคนี้จะแยกดนตรีทางศาสนาและดนตรีเพื่อความสุนทรีย์ออกจากกัน ลักษณะ ของดนตรีในยุคคลาสสิกที่เปลี่ยนไปจากยุคบาโรก  คือ ในขณะที่ยุคบาโรก  ซึ่งใช้เทคนิคเคาน์เตอร์พอยต์ (Counterpoint) ในการแต่งบทเพลง แต่เมื่อถึงยุคคลาสสิค เทคนิคดังกล่าวกลับไม่เป็นที่นิยมซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดและหันมานิยมการเน้นทำนองหลักเพียงทำนองเดียวโดยมีแนวเสียงเล่นประสานให้ทำนองไพเราะขึ้น คือ การใส่เสียงประสานในลักษณะ ลักษณะของเบสโซคอนตินิวโอ  ทำนองเพลงมีความช้าเร็วสลับกัน  รูปแบบของเพลงที่เป็นแบบแผน คือ เพลง Symphony และเพลงคอนแชร์โต  มีเครื่องดนตรีได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเปียโน มีรูปแบบ การประสมวงที่แน่นอน เช่น วงแชมเบอร์ประกอบด้วยเครื่องดนตรีตั้งแต่ 2-9 ชิ้น ส่วนวงออร์เคสตราประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 กลุ่ม ได้แก่
-กลุ่มเครื่องสาย
-กลุ่มเครื่องลมไม้
-กลุ่มเครื่องลมทองเหลือง
-กลุ่มเครื่องกระทบหรือเครื่องประกอบจังหวะ
สำหรับการแสดงอุปรากร (Opera) เป็นที่นิยมมากในยุคนี้นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ได้แก่โยเซฟ  ไฮเดิน (Joseph Haydn) ซึ่งได้รับฉายาว่า "บิดาแห่งซิมโฟนี" โวล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท  (Wolfgang Amadeus Mozart) ผู้ประพันธ์ผลงานเพลงมากกว่า 600 ผลงาน และลุด วิก ฟานเบโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล 

ยุคโรแมนติก (The Romantic Period ค.ศ. 1820-1900)
          ยุคโรแมนติกเริ่มต้นขึ้นในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่รูปแบบของดนตรีโรแมนติกเริ่มเป็นรูปแบบขึ้นในตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้ว  โดยมีเบโธเฟนเป็นผู้นำของยุค ยุคโรแมนติกนี้ตรงกับสมัยของนโปเลียนแห่งฝรั่งเศส เป็นยุคทองของศิลปะการดนตรี  นักดนตรีหรือผู้ประพันธ์เพลงทำงานเพื่อเจ้านายในราชสำนักน้อยลง ผลงานเพลงจึงแนะแสดงออกถึงความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ประพันธ์เอง ดนตรีในยุคนี้มีทั้งดนตรีเพื่อศิลปะ  ดนตรียุคบรรยายเรื่องราว  และดนตรีที่แสดงความเป็นชาตินิยม  มีการนำคอร์ดที่มีเสียงแปลกๆมาใช้มากขึ้น  เน้นความดัง-เบา และเทคนิคการเล่นที่ยาก นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในยุคโรแมนติกนี้ได้แก่ ปีเตอร์ อิลิชไชคอฟสกี (Prter Ilich Tchaikovaky) โยฮันเนส  บราห์ม (Johannes Brahms) ฟรันซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) เฟรนเดริก ฟรองซัวส์ โชแปง (Frederic Francois chopin) โรเบิร์ต ชูมันน์ (Robert schumann)

ยุคศตวรรษที่ 20 (20th Century Peried ค.ศ. 1900-ปัจจุบัน)
           ต่างจากดนตรีในยุคโรแมนติกผ่านไป ความเจริญในด้านต่างๆ ก็มีความสําคัญและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดมายุคนี้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด  ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตและมีอิทธิพลต่อดนตรีเป็นอย่างมาก และเป็นยุคของการทดลองเพื่อค้นหาความแปลกใหม่ ดนตรีในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้กล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของดนตรีที่มีหลายรูปแบบมีการใช้บันไดเสียงมากกว่า 1 บันไดเสียงในขณะเดียวกันที่เรียกว่า "โพลีโทนาลิตี" (polytonality) ในขณะที่การใช้บันไดเสียง แบบ 12 เสียง (twelve tone) เรียกว่า "อโทนาลิตี" (atonality) เพลงในลักษณะนี้ยังคงใช้เครื่องดนตรีที่มีมาแต่เดิม เป็นหลักในการบรรเลง อย่างไรก็ตาม การจัดโครงสร้างดนตรียังคงเน้นที่องค์ประกอบ 4 ประการเหมือนเดิม คือ ระดับเสียง ความดัง-เบาของเสียงความสั้น-ยาวของโน้ตและสีสันของเพลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น